ข้อบังคับสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า “ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ” ใช้อักษรย่อ “ สทช ”
ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ Thai Society for Biotechnology “ ใช้อักษรย่อว่า “ TSB ”

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป เส้นสายของ DNA ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิต การคลายตัวของเส้นสาย DNA คือ วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ในการสนับสนุนการค้นคว้า วิจัย เพื่อเปิดเผยความเร้นลับแห่งเทคโนโลยีชีวภาพออกสู่โลกภายนอก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนสีที่ใช้ คือ สีแดง ซึ่งเป็นสีแห่งชีวิต สีขาว สีน้ำเงิน (และแดง) เป็นสีประจำชาติ

เครื่องหมายสมาคมฯ
tsb-logo_1

ข้อ 3. สำนักงานใหญ่ของสมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
73/1 ถนนพระราม 6 ทุ่งพญาไท ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 644-8150-4 โทรสาร 644-8107
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เพื่อ
4.1 ส่งเสริมให้สมาชิกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพร่วมกัน
4.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพให้เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านอาหาร เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการแพทย์
4.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ด้านเทคโนโลยีชีวภาพแก่ประชาชนทั่วไป
4.4 ร่วมมือประสานงานเพื่อให้บริการแนะนำและสนับสนุนบุคคลภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการนำวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรม
4.5 นำเสนอปัญหา ข้อเสนอแนะ ตลอดจนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เหมาะสมแก่ องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นแนวทางในการนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ
4.6 ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.7 ให้ความสะดวก สนับสนุนการหาทุนวิจัยและพัฒนาแก่สมาชิก
4.8 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

4.9 ให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งในด้านอาหาร เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การแพทย์ สาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หมวดที่ 2 สมาชิกและสมาชิกภาพ

ขอ 5. ประเภทของสมาชิก สมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ
5.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสมาคมพิจารณาเห็นว่า ได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในกิจกรรมของสมาคม สมาชิกภาพของบุคคลนั้นจะก่อให้เกิดเกียรติคุณต่อสมาคมเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการสมาคม ได้ลงมติเชิญให้เป็นสมาชิกและบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญ
5.2 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่สนใจในวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือสนใจกิจการสมาคม แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก
5.3 สมาชิกอุปถัมภ์ ได้แก่ บุคคลหรือนิติบุคคลผู้ทำประโยชน์ อุปการะและส่งเสริมสนับสนุนสมาคม ซึ่งคณะกรรมการสมาคม ได้เชิญเป็นสมาชิกและบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญ
5.4 สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่ องค์กรที่กฎหมายรับรองว่าเป็นนิติบุคคล แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก
5.5 สมาชิกหน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานราชการ หรือองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไร แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก
5.6 สมาชิกสมทบ ได้แก่ นิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย และสนใจในวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ แสดงความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ 6. คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกสมาคมจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว(ยกเว้น สมาชิกนิติบุคคล สมาชิกหน่วยงาน และ สมาชิกสมทบ)
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
6.4 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.5 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือล้มละลาย หรือถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือ ในระหว่างเป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์และสมาชิกอุปถัมภ์ ต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมกำหนดไว้ ต่อนายทะเบียนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 8. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ให้นายทะเบียนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้พิจารณาอนุมัติรับผู้สมัครเป็นสมาชิกและแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมทราบคราวต่อไปและให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ

ข้อ 9. ค่าธรรมเนียมสมัครเข้าและค่าบำรุงสมาคม
9.1 ค่าธรรมเนียมสมัครเข้า ผู้สมัครต้องชำระเมื่อยื่นใบสมัคร 20 บาท
9.2 ค่าบำรุง
9.2.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าบำรุง
9.2.2 สมาชิกสามัญ ชำระค่าบำรุงปีละ 300 บาท
สมาชิกสามัญตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 1,000 บาท
9.2.3 สมาชิกอุปถัมภ์ ไม่ต้องเสียค่าบำรุง
9.2.4 สมาชิกนิติบุคคล ชำระค่าบำรุงปีละ 400 บาท
สมาชิกนิติบุคคลตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 4,000 บาท
9.2.5 สมาชิกหน่วยงาน ชำระค่าบำรุงปีละ 400 บาท
สมาชิกหน่วยงานตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 4,000 บาท
9.2.6 สมาชิกสมทบ ชำระค่าบำรุงปีละ 100 บาท

ข้อ 10. วันเริ่มสมาชิกภาพ
เมื่อนายทะเบียนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พิจารณารับเข้าเป็นสมาชิกและผู้สมัคร ได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมสมัครเข้าและค่าบำรุงสมาคม ตามข้อ 9 เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงจะได้มีสมาชิกภาพ เงินค่าธรรมเนียมสมัครเข้าและค่าบำรุงสมาคมเมื่อได้ชำระต่อสมาคมแล้วจะเรียกคืนไม่ได้ แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าธรรมเนียมสมัครเข้าและค่าบำรุงสมาคม ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนสมาคมก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 11. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงในกรณีต่อไปนี้
11.1 ตาย
11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการสมาคมและคณะกรรมการสมาคมได้พิจารณาอนุมัติ โดยสมาชิกผู้นั้น ได้ชำระหนี้สินที่ค้างชำระต่อสมาคม เรียบร้อยแล้ว
11.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6
11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการสมาคม ลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3ใน4 ขององค์ประชุมด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
11.4.1 กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสมาคม หรือทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง
11.4.2 ละเมิดข้อบังคับสมาคม
11.4.3 ไม่ชำระค่าบำรุงสมาคมภายใต้ข้อ 9 โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
11.5 สมาชิกผู้ค้างชำระค่าบำรุง ให้ถือว่าความเป็นสมาชิกสิ้นไป เมื่อสมาชิกชำระค่าบำรุงที่ติดค้างแล้ว ให้มีสิทธิเป็นสมาชิกของสมาคมต่อไป โดยไม่ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่

หมวดที่ 3 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 12. สิทธิของสมาชิก
12.1 ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม จากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
12.2 สมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคมหรือคณะกรรมการสมาคม ในเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
12.3 สมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าประชุม อภิปรายแสดงความคิดเห็น ซักถามคณะกรรมการสมาคม ซึ่งสมาชิกสามัญและสมาชิกนิติบุคคลเท่านั้น มีสิทธิเสนอญัตติในการประชุมใหญ่โดยยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขานุการสมาคมก่อนหน้าวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน และต้องมีสมาชิกสามัญรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน
12.4 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 เสียง ๆ ละ 1 คะแนนเท่านั้น
12.5 สมาชิกอุปถัมภ์ สมาชิกนิติบุคคล สมาชิกหน่วยงาน จะต้องแต่งตั้งผู้แทน 1 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจ ทำการแทนนิติบุคคลนั้นได้ เพื่อปฏิบัติการในหน้าที่และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้น ในการนี้ผู้แทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทนหรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงไม่ได้ โดยสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่และในการเลือกตั้งกรรมการของสมาคม ซึ่งสิทธิของ นิติบุคคล องค์กรหรือหน่วยงาน ละ 1 เสียง ๆ ละ 1 คะแนนเท่านั้น
12.6 สมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยยื่นคำขอนั้นไปยังคณะกรรมการสมาคมเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องได้รับความเหตุชอบจากที่ประชุมใหญ่
12.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
12.8 ผู้ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงจะไม่ได้รับสิทธิ ตามข้อ 12 และไม่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของสมาคม

ข้อ 13. หน้าที่ของสมาชิก
13.1 สมาชิกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ คำสั่งของสมาคม มติของที่ประชุมใหญ่และมติของคณะกรรมการสมาคม ซึ่งไม่ขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติในสังคม อย่างเคร่งครัด
13.2 ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ของสมาคม ไม่อาศัยชื่อของสมาคมเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
13.3 ส่งเสริม เผยแพร่และสนับสนุนกิจการของสมาคม ให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
13.4 ชำระค่าบำรุงตามกำหนด
13.5 สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ นามสกุล สัญชาติ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล จะต้องทำหนังสือแจ้งให้เลขานุการสมาคมทราบภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง

หมวดที่ 4 คณะกรรมการสมาคม

ข้อ 14. คณะกรรมการสมาคม
ให้มีคณะกรรมการสมาคมขึ้นคณะหนึ่ง เป็นผู้บริหารงานและเป็นตัวแทนของสมาคม ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่น มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 11 คน และ ไม่เกิน 15 คน นายกสมาคมและกรรมการจำนวน 7 คน ต้องเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสมาคม โดยมีวิธีการเลือกตั้งตามที่ประชุมใหญ่กำหนด และกรรมการที่เหลือให้เป็นสิทธิของนายกสมาคมที่จะแต่งตั้ง
ให้คณะกรรมการสมาคมเลือกกรรมการ เพื่อดำรงตำแหน่ง อุปนายกสมาคม เลขานุการ เหรัญญิก ปฏิคม นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

ข้อ 15. วาระการดำรงตำแหน่ง
นายกสมาคมและคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี ครบวาระตามปีปฏิทิน และเมื่อคณะกรรมการสมาคมอยู่ตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้วแต่คณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการก็ให้คณะกรรมการสมาคมที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี โดยนายกสมาคมที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมในวาระต่อไปอีกได้ ซึ่งแต่ละคราวจะต้องไม่เกิน 2 วาระติดกัน

ข้อ 16. คุณสมบัติของนายกสมาคมและกรรมการ นายกสมาคมและกรรมการของสมาคม จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
16.1 เป็นสมาชิกสามัญ
16.2 ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างประจำของสมาคม
16.3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
16.4 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
16.5 ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ

ข้อ 17. การพ้นจากตำแหน่งนายกสมาคมและกรรมการ นายกสมาคมและกรรมการของสมาคม พ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
17.1 ตาย
17.2 ครบกำหนดออกตามวาระ
17.3 ลาออก โดยให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการสมาคมและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการสมาคมลงมติอนุมัติให้ออก
17.4 ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อ 11และขาดคุณสมบัติตามข้อ 16
17.5 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
17.6 ขาดการประชุมคณะกรรมการสมาคมติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 18. กรณีตำแหน่งว่างลงก่อนกำหนดออกตามวาระ
ในกรณีที่ตำแหน่งนายกสมาคมหรือกรรมการอื่น ว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ คณะกรรมการสมาคมอาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญ คนใดคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งแทนได้ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 19. การประชุมคณะกรรมการสมาคม
ให้มีการประชุมคณะกรรมการสมาคม อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง นายกสมาคมและกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน อาจเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษได้

ข้อ 20. องค์ประชุมในการประชุมคณะกรรมการสมาคม
การประชุมคณะกรรมการสมาคมจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงถือได้ว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 21. มติของการประชุมคณะกรรมการสมาคม
นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงได้อีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 22. ประธานในที่ประชุม
ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม หากนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุมแทน ในกรณีที่อุปนายกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมเฉพาะการประชุมในคราวนั้น

ข้อ 23. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสมาคม อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสมาคมมีดังนี้
23.1 บริหารงานและจัดการทรัพย์สินของสมาคม ตามข้อบังคับ และมติของที่ประชุมใหญ่
23.2 เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการสมาคม
23.3 วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคม โดยระเบียบนั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
23.4 ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน เจ้าหน้าที่ พนักงาน อนุกรรมการ ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย ซึ่งอนุกรรมการ ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
23.5 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนด
23.6 นายกสมาคม มีหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมคณะกรรมการสมาคม บริหารและควบคุมกิจการของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก
23.7 อุปนายก มีหน้าที่ทำการแทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และเป็นผู้ช่วยนายกสมาคม ในการปฏิบัติการใด ๆ ที่นายกสมาคมมอบหมายและช่วยปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.8 เลขานุการ มีหน้าที่จัดการประชุมกรรมการ จัดทำรายงานการประชุม ติดต่อกับสมาชิกและบุคคลภายนอกในเรื่องทั่วไป และเป็นผู้อำนวยการในกิจการอื่น ๆ หรืองานที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมการอื่นโดยเฉพาะ และปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.9 เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมการรับจ่ายเงิน เก็บรักษาเงินสด การทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคม และปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.10 ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคม เป็นผู้อำนวยการในการจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆของสมาคม และปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.11 นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำและควบคุมทะเบียนสมาชิก ตลอดจนเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเป็นสมาชิก และปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.12 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไป รู้จักแพร่หลายและปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.13 กรรมการกลาง มีหน้าที่ช่วยคณะกรรมการบริหารในการบริหารงานสมาคมและปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการสมาคมมอบหมายให้
23.14 กิจการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการสมาคมเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการสมาคมไม่ได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

หมวดที่ 5 การประชุมใหญ่

ข้อ 24. การประชุมใหญ่ กำหนดการประชุมใหญ่ มีดังนี้
24.1 ประชุมใหญ่สามัญ ปีละหนึ่งครั้ง
24.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ มีขึ้นในกรณีที่คณะกรรมการสมาคมเห็นสมควรหรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน3ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด แสดงความจำนงโดยยื่นหนังสือพร้อมด้วยเหตุผลต่อเลขานุการขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ให้คณะกรรมการสมาคมนัดประชุมใหญ่วิสามัญ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

ข้อ 25. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่
ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่สามัญ หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 26. มติของที่ประชุมใหญ่
นอกจากที่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด

ข้อ 27. การนัดประชุมใหญ่
คณะกรรมการสมาคม จะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวัน เวลา สถานที่และระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 28. ประธานในที่ประชุมใหญ่
ให้นายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม ถ้านายกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุมแทนในกรณีที่อุปนายกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลย ให้ที่ประชุมเลือกตั้งสมาชิกคนใดคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมใหญ่คราวนั้น

ข้อ 29. วิธีการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สำหรับการออกเสียงลงคะแนนจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง สำหรับตนเองเท่านั้น และจะต้องอยู่ร่วมในขณะและเวลาที่ ที่ประชุมลงคะแนนด้วย ให้ถือปฏิบัติเป็นสองกรณี คือ
29.1 โดยเปิดเผย ให้ใช้วิธีชูมือ
29.2 การลงคะแนนลับ ให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน และจะกระทำได้ในเมื่อคณะกรรมการ สมาคมและสมาชิกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนองค์ประชุมร้องขอ

ข้อ 30. การเสนอญัตติ
ญัตติใด ๆ เว้นแต่ที่เสนอโดยคณะกรรมการสมาคมหรือกรรมการคนใดคนหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน

ข้อ 31. กิจการอันพึงต้องกระทำในการประชุมใหญ่สามัญ กิจการอันพึงต้องกระทำในการประชุมใหญ่สามัญมีดังนี้
31.1 รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
31.2 พิจารณารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี
31.3 พิจารณางบรายรับ-รายจ่ายและรับรองงบดุล
31.4 แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปีและกำหนดค่าตอบแทน
31.5 เลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมตามข้อบังคับ
31.6 พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

ข้อ 32. กิจการอันพึงต้องกระทำในการประชุมใหญ่วิสามัญ
กิจการอันพึงต้องกระทำในการประชุมใหญ่วิสามัญ ได้แก่ กิจการที่จะต้องกระทำโดยอาศัยมติที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่อาจหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถจัดทำได้ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี

หมวดที่ 6 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 33. การเงินของสมาคม
การเงินของสมาคมอยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของคณะกรรมการสมาคมโดยให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ในนามของสมาคม เพื่อเก็บรักษาเงินของสมาคม การจ่ายเงินของสมาคมไม่ว่าจากบัญชีใด ๆ ต้องประทับตราสมาคมโดยมีนายกสมาคมหรืออุปนายกหรือเลขานุการหรือเหรัญญิกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสมาคม ลงลายมือชื่อร่วมกัน ไม่น้อยกว่า 2 คน โดยกำหนดให้จ่ายเงินได้ ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) หากเกินกว่านี้ ต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมทุกครั้งไป

ข้อ 34. บัญชีการเงินและทรัพย์สิน
ให้เหรัญญิกจัดให้มีบัญชีการเงินและทรัพย์สินของสมาคมพร้อมด้วยใบสำคัญและหลักฐานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการบัญชี การรับเงินทุกประเภทต้องมีหลักฐานการรับเงิน การจ่ายเงินทุกราย ต้องมีใบสำคัญอันมีรายการและจำนวนเงินที่ถูกต้องตามที่ได้รับอนุมัติจากนายกสมาคมหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม หลักฐานการรับจ่าย ต้องเก็บรักษาไว้ เพื่อการตรวจสอบโดยเรียบร้อยครบถ้วนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้ในมือเพื่อใช้จ่ายเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ 35. งบประมาณรายจ่าย
งบประมาณค่าใช้จ่ายของสมาคม ให้คณะกรรมการสมาคมเป็นผู้จัดทำขึ้นเป็นงบประมาณประจำปี

ข้อ 36. ผู้สอบบัญชี
ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่ใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่และพนักงานของสมาคม โดยจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 37. อำนาจของผู้สอบบัญชี
ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่และพนักงานของสมาคมทุกคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าวข้างต้น

หมวดที่ 7 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ
ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ขององค์ประชุม

ข้อ 39. การเลิกสมาคม สมาคมนี้จะเลิกได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
39.1 เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ขององค์ประชุม
39.2 เมื่อศาลสั่งให้มีสภาพล้มละลาย
39.3 ศาลสั่งให้เลิก

ข้อ 40. การชำระบัญชี
เมื่อสมาคมต้องเลิกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ตามข้อ 39 การชำระบัญชีของสมาคม ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมและให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย ถ้าไม่ได้มีการกำหนดไว้ให้คณะกรรมการสมาคมในชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน
เมื่อชำระบัญชีเรียบร้อยแล้วทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นของมูลนิธิส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพ (กองทุนทะกุจิ) (ผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการกุศล สาธารณประโยชน์)

หมวดที่ 8 บทเฉพาะการ

ข้อ 41. ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้นไป

ข้อ 42. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญและรักษาการในตำแหน่งกรรมการสมาคม เพื่อรับสมัครสมาชิกและเมื่อรับสมัครสมาชิกได้จำนวนพอสมควร ก็ให้จัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้น เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมชุดแรก แต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการจัดประชุมใหญ่ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

ข้อ 43. ให้สมาชิกชมรมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย ที่ไม่ได้ยื่นความจำนงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของชมรม โอนเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย