
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ผู้แทนจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (International Development Research Centre) ได้เดินทางมาเยือนศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานรับทุน เพื่อประเมินศักยภาพของสถาบันในภาพรวม โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำกับติดตาม (due diligence) ของ IDRC ที่มุ่งทำความเข้าใจรูปแบบการดำเนินงานของสถาบันผู้รับทุน และตรวจสอบความพร้อมในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงทุนสนับสนุน

การประเมินในครั้งนี้จัดทำภายใต้โครงการ ShrimpGuard ซึ่งมีชื่อเต็มว่า “Development of phage-associated formulation to combat antimicrobial-resistant vibriosis in cultured shrimp” นำโดย ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก IDRC จำนวน 41,605,962 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 32 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2569
โดยโครงการมุ่งพัฒนาสารชีวภาพหรือ ‘ชริมป์การ์ด’ ซึ่งเป็นแบคทีริโอฟาจ (bacteriophage) หรือไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการเข้าทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในกุ้งได้อย่างจำเพาะเจาะจงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในระบบการเลี้ยงกุ้งและในลำไส้กุ้ง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่จะมีส่วนช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งให้มีความยั่งยืน ด้วยการลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะให้น้อยที่สุด

การประเมินนำโดยคุณ Katrina Millard ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการทุน และคุณ Marc Cohen ผู้จัดการฝ่ายบริหารจัดการทุน จาก IDRC โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ BIOTEC และ สวทช.ที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการทุนวิจัย การเงิน บัญชี งานพัสดุ ทรัพยากรบุคคล
การประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการทุนของ IDRC พร้อมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานผู้ให้ทุน และ BIOTEC รวมทั้งเป็นเวทีในการสำรวจแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต