ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน เริ่มทำงานที่ไบโอเทคในปี พ.ศ. 2537 ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สเตท (Oregon State University) ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2542 งานวิจัยของ ดร. วรรณพมุ่งเน้นด้านชีวเคมีของอาหาร โดยเฉพาะการศึกษาโปรตีนและเอนไซม์ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพของอาหาร มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติกว่า 150 เรื่อง
ดร.วรรณพ ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2546 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับรางวัลทะกุจิ ประจำปี พ.ศ. 2548 ประเภทนักวิจัยดีเด่นในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และในปี พ.ศ. 2549 ทีมวิจัยของ ดร.วรรณพ ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบัน ดร.วรรณพ เป็นสมาชิก ของ Institute of Food Technologist (IFT) และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร. ศิราวุธ กลิ่นบุหงา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร
ดร. ศิราวุธ กลิ่นบุหงา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล จากมหาวิทยาลัยเสตอร์ลิง (University of Stirling) ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะมาร่วมงานกับไบโอเทค ในปี พ.ศ. 2539 งานวิจัยของ ดร. ศิราวุธเน้นการพัฒนาเครื่องหมายทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งผลงานวิจัยกว่า 80 ชิ้นของ ดร.ศิราวุธได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ดร.ศิราวุธยังเป็นหนึ่งในบอร์ดบรรณาธิการของวารสารระดับสากลมากกว่า 20 ฉบับ อาทิเช่น Developmental and Comparative Immunology และ Advances in Molecular Medicine เป็นต้น
ดร.ศิราวุธ ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 และนักเทคโนโลยีดีเด่น ในปี พ.ศ. 2546 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และในปี พ.ศ. 2544 ผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาดีเอ็นเอเครื่องหมายและการศึกษาพันธุกรรมในกุ้งกุลาดำ ได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ นอกจากนี้ ดร.ศิราวุธ ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่นประจำปี 2547 จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับทุนวิจัยจากองค์กรส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน ดร.ศิราวุธ เป็นสมาชิกของ The Fisheries Society of British Isles (FSBI) และ มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยชีวโมเลกุลทางการแพทย์
ดร.สุมาลี กำจรวงศ์ไพศาล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีวเคมี จากการการทำงานวิจัยด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย เมื่อ พ.ศ. 2537 จากมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก จาก มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 โดย ดร.สุมาลี มีความสนใจงานวิจัยด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย ชีวเคมีและจีโนมิกส์เชิงหน้าที่ของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งผลงานวิจัยกว่า 40 ชิ้นของ ดร.สุมาลีได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมทั้งมีผลงานสามชิ้นที่ได้รับการจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2547 ดร.สุมาลี ได้รับรางวัลทะกุจิ ประเภทงานวิจัยดีเด่น โดยเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ในปี พ.ศ. 2548 ดร.สุมาลีเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลทุนวิจัย Howard Hughes ของ Howard Hughes Medical Institute (HHMI) รางวัลของสถาบันการแพทย์ของสหรัฐ ที่มอบให้กับนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยดีเด่น
ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรนี้ ไบโอเทคจึงมีหน่วยวิจัยที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 5 หน่วย (โดยมีหน่วยวิจัยเดิมสองหน่วยวิจัย คือ สถาบันจีโนม และหน่วยวิจัยเทคโนโลยีทรัพยากรชีวภาพ) และหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ สำหรับรายชื่อหน่วยวิจัยของไบโอเทค และหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วม สามารถค้นหาได้ที่เว็บเพจhttps://www.biotec.or.th/TH/index.php/research/research-unit
ประกาศเมื่อ 1 ตุลาคม 2553