ระบบไอคอลเล็ค เป็นซอฟต์แวร์ในการจัดเก็บข้อมูลวัสดุชีวภาพเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถกำหนดโครงสร้างคลังจัดเก็บรักษาวัสดุชีวภาพ จัดสรรชั้นลำดับความสำคัญของข้อมูลวัสดุชีวภาพในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลทั่วไป สถานที่พบชนิด ประเภท ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการและการสร้างบาร์โค้ด รวมถึงการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ของวัสดุชีวภาพนั้นๆ ระบบไอคอล เล็คโดยรวมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานของศูนย์จัดเก็บวัสดุชีวภาพดังนี้
- การรับฝากวัสดุชีวภาพ (Deposit)
- การเพิ่มจำนวนเพื่อการจัดเก็บรักษา (Sample)
- การตรวจสอบคุณภาพของวัสดุชีวภาพ (Quality Control)
- การควบคุมและติดตามการนำวัสดุชีวภาพเข้า/ออกจากคลังเก็บรักษา (Storage)
- การให้บริการวัสดุชีวภาพ (Services)
- การจัดทำรายการวัสดุชีวภาพ (Catalog) เพื่อให้บริการและเผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ
- การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่ายต่างๆ
โดยลักษณะการทำงานดังกล่าวข้างต้นนี้ทำให้สามารถนำระบบไอคอลเล็ค ไปใช้ในศูนย์เก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพที่อื่นๆได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากระบบไอคอลเล็คสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อมูลที่สำคัญตามความต้องการของผู้ใช้ที่ต่างกันออกไปได้ (Configurable) เช่น รายละเอียดของวัสดุชีวภาพ โครงสร้างประเภทของคลังจัดเก็บวัสดุชีวภาพ และการกำหนดเงื่อนไขของการให้บริการวัสดุชีวภาพประเภทต่างๆ เป็นต้น
ระบบไอคอลเล็ค ถูกออกแบบให้มีการทำงานในลักษณะของการรับ-ให้บริการ (Client-Server Application) เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบหลายผู้ใช้งาน (Multi-user) และหลายคอลเลคชั่น (Multi-Collection) กล่าวคือยอมผู้ใช้สามารถจะจัดการบริหารข้อมูลวัสดุชีวภาพ (คอลเลคชั่น) หลายๆ ชุดของตนเองและยังสามารถอนุญาตและกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมุลแก่ผู้ใช้งานรายอื่นได้ โดยส่วนของเครื่องแม่ข่าย (Server) คือส่วนของเครื่องที่มีการติดตั้งและให้บริการฐานข้อมูล ส่วนเครื่องลูกข่าย (Client) เป็นส่วนของการทำงานที่ติดต่อขอใช้ข้อมูลจากเครื่องแม่ข่ายผ่านระบบ อย่างไรก็ตามสามารถติดตั้งและใช้งานระบบไอคอลเล็คแบบ Stand-alone ได้ถ้ามีผู้ใช้งานรายเดียวหรือจำนวนน้อยหรือไม่มีระบบเครือข่าย
ระบบไอคอลเล็ค นี้ถูกพัฒนาภายใต้ Microsoft Visual Basic .NET Framework ที่ทำการติดต่อกับระบบฐานข้อมูล MySQL ในปัจจุบัน ระบบไอคอลเล็คจึงทำงานได้บนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows
ปัจจุบัน ระบบไอคอลเล็คได้ถูกนำไปใช้งานในหน่วยวิจัยการเทคโนโลยีทรัพยากรชีวภาพ และฐานข้อมูลและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของ 3 หน่วยงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ระบบไอคอลเล็คถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัย Information Systems
ประกาศเมื่อ 16 กรกฎาคม 2555