เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2555 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจักษ์ในวงวิชาการ และเป็นกำลังใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่มุ่งมั่นสร้างผลงานวิจัยให้มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
ดร. สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม สถาบันจีโนม ไบโอเทค ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในสาขาวิชาชีวโมเลกุลพืช ประจำปี 2555 ซึ่งมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยมุ่งดำเนินงานวิจัยด้านการใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ในการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีประยุกต์ของพืชเศรษฐกิจ เช่น การค้นหาลำดับเบสจีโนมและทรานสคริปโตมเพื่อค้นหายีน ศึกษาการควบคุมการแสดงออกของยีน พัฒนาเครื่องหมายโมเลกุล การทำจีโนไทป์เพื่อสร้างแผนที่พันธุกรรม ศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และการสร้างห้องสมุดจีโนมใน Bacterial Artificial Chromosome (BAC) เพื่อช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้ ดร. สิทธิโชค ดำเนินงานวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ดำเนินงานวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้ได้กะลาบาง มีอัตราส่วนดอกตัวเมียสูง และต้นเตี้ย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันไออาร์ดี ประเทศฝรั่งเศส และ บริษัทโกลด์เด้น เทเนอร่า จำกัด และได้ร่วมพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อปรับปรุงยางพาราทนแล้ง ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยจากไบโอเทค และสถาบันยางอีกด้วย ปัจจุบัน ดร. สิทธิโชค มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติจำนวน 20 เรื่อง มีการเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการต่างๆ ตลอดจนได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษ ถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษา และบริการวิชาการ กับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิจัยให้กับวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เช่น BMC Plant Biology, BMC Genomics, Bioinformatics, Tree Genetics& Genomes และ Gene เป็นต้น
สำหรับประวัติการศึกษา ดร. สิทธิโชค ได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อไปศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ณ ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 จาก Brasenose College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากนั้นเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาชีวโมเลกุลพืช โดยทำงานวิจัยเรื่องการศึกษาผลของ 3” Untranslated Regions (UTRs) ต่อการแสดงออกของยีนในคลอโรพลาสต์ โดยเทคนิคการถ่ายยีนเข้าสู่คลอโรพลาสต์จีโนมในต้นยาสูบ
- ศาสตราจารย์ ดร. ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สาขาวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศาสตราจารย์นายแพทย์ นิพนธ์ ฉัตรทิพากร สาขาวิชาสรีรวิทยาทางไฟฟ้าของหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดร. สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง สาขาวิชาชีวโมเลกุลพืช ไบโอเทค
- ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- ผศ. ดร. สัมฤทธิ์ วัชรสินธุ์ สาขาวิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประกาศเมื่อ 1 สิงหาคม 2555