วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2555 ได้จัดกิจกรรมประชุมครูแกนนำและจัดแสดงนิทรรศการโครงงานฯ ของนักเรียนระดับประเทศ โครงการความร่วมมือนำร่อง โครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ระยะที่ 2 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เป็นการติดตามประเมินผลงานที่เกิดจากความคิดของนักเรียน โดยมีครูแกนนำเป็นที่ปรึกษา มีนักเรียนร่วมกิจกรรมจากระดับประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย จาก 81 โรงเรียนทั่วประเทศ และมีการนำเสนอโครงงาน กว่า 90 โครงการ ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในการจัดทำผลงานที่เชื่อมโยงในเรื่องสุขภาพ มีการนำเสนอ การจัดแสดงนิทรรศการที่มีความถูกต้อง สวยงาม ประหยัดและคงทน การสาธิตผลการดำเนินงาน ซึ่งผลงานที่ผ่านตามเกณฑ์คะแนนร้อยละ 70 -79 จะได้รับรางวัลดาวเงิน ผลงานที่ผ่านตามเกณฑ์คะแนนร้อยละ 80-100 จะได้รับรางวัลดาวทอง และผลงานที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด จะได้รับรางวัลยอดนิยม โดยส่วนหนึ่งเป็นการให้คะแนนจากนักวิจัยใน สวทช. ซึ่งนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมมีโอกาสได้รับคำแนะนำจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่อีกด้วย
จากผลงานที่จัดแสดงมีผลงานได้รับรางวัลดาวทอง 35 โครงงาน และ รางวัลดาวเงิน 38 โครงงานรางวัลดาวทองคะแนนสูงสุดระดับประถม ได้แก่ โรงเรียนสงเคราะห์ชัยนาท จาก โครงงาน “ศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบไม้ในการตรวจสารฟอร์มาลีน” ฟอร์มาลีน เป็นสารเคมีหนึ่งที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ และอาหารทะเล ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงได้คิดค้นชุดตรวจสอบฟอร์มาลีนจากสิ่งต่างๆ ใกล้ตัว สามารถทดสอบได้ด้วยตนเอง ไม่ใช้สารเคมี ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยการศึกษาสารสกัดจากใบไม้ 6 ชนิด ใบมะละกอ ใบมะยม ใบหว้า ใบยอ ใบมะสัง ใบมะขาม และ ใบหว้า ซึ่งพบว่าใบหว้าสามารถทดสอบสารฟอร์มาลีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นตะกอนได้ชัดเจนและสีจางลง เมื่อนำมาทดสอบในอาหารทะเล การทดสอบเทียบเท่ากับชุดทดสอบจากองค์การเภสัชกรรม
![]() |
![]() |
รางวัลดาวทองคะแนนสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ โรงเรียนรัฐราษฎร์อนุสรณ์ จากโครงงาน “คอนโดเพาะถั่วงอกระบบหยดน้ำ” จากการสังเกตเพื่อนๆ ชอบรับประทานถั่วงอกกับก๋วยเตี่ยวในมื้ออาหารกลางวัน ซึ่งถั่วงอกที่รับประทานอาจมีสารพิษตกค้าง จากการฟอกสี ใส่ปุ๋ยหรือแช่สารฟอร์มาลิน จึงเป็นที่มาของโครงงานฯ มีประโยชน์ในการช่วยลดขั้นตอนการเพาะถั่วงอก มีการเจริญเติบโตดีกว่าการเพาะถั่วงอกแบบธรรมดา ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปลอดจากสารพิษตกค้างในการนำมาเป็นอาหารกลางวันภายในโรงเรียน สร้างรายได้ให้กับนักเรียน
![]() |
![]() |
รางวัลดาวทองคะแนนสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โรงเรียนจอมทองวิทยา จากโครงงาน “สารเคลือบผิวธรรมชาติช่วยยืดอายุมะเขือเทศหลังจากเก็บเกี่ยว” จากการที่ชุมชนปลูกมะเขือเทศกันมากต้องการยืดอายุมะเขือเทศไม่ให้เหี่ยวเฉาง่ายภายหลังจากการเก็บเกี่ยว ดังนั้นจึงได้คิคค้นสารเคลือบผิว จากเห็ดลาบและเปลือกกล้วยน้ำว้าดิบ นำมาทดสอบพบว่า ช่วยรักษาความสดของมะเขือเทศได้นาน 14 วัน และเมื่อรับประทานก็จะไม่มีสารพิษตกค้าง
รางวัลยอดนิยม ได้แก่โรงเรียนกาวิละอนุกูล จากโครงงานถ่านไฟเก่า เป็นการนำถ่านที่เหลือใช้ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ และวาดรูป ใช้ประโยชน์ในการดับกลิ่นภายในตู้ แต่ละโครงงานที่ได้รับรางวัลถือเป็นผลงานที่ นำเสนอโครงงานได้ดี สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ นำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปพัฒนาและปรับใช้ได้ในอนาคต
ประกาศเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2555