เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานประกาศรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประเภท รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย และ รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2555 โดยผลงานวิจัยเรื่อง “การลดฮิสทามีนในน้ำปลาโดยวิธีการทางชีวภาพด้วยเซลล์จุลินทรีย์อาเคียชอบเกลือที่มีกิจกรรมของเอนไซม์ฮีสตามีนดีไฮโดรจีเนส” ของ ดร. วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ไบโอเทค ร่วมกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี นับเป็นหนึ่งใน 28 ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล
ผลงานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาวิธีการลดฮิสทามีนในน้ำปลาโดยใช้กระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งฮิสทามีนเป็นสาเหตุสำคัญของการกักกันและปฏิเสธสินค้าผลิตภัณฑ์น้ำปลาจากประเทศคู่ค้า ซึ่งกำหนดค่าฮิสทามีนในน้ำปลาไว้ที่ระดับ 200-400 ppm คณะผู้วิจัยจึงพัฒนาวิธีการลดฮิสทามีนในน้ำปลาโดยเริ่มจากการคัดแยกเชื้ออาเคียที่ชอบเกลือ พบว่าเชื้อ Natrinema gari HDS3-1 (=Natrinema gari BCC24369) เป็นเชื้อที่มีความสามารถในการลดฮิสทามีนในสภาวะที่มีเกลือสูง และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้ยังพัฒนาวิธีตรึงเซลล์ที่ทำให้ได้เซลล์ตรึงที่มีประสิทธิภาพในการลดฮิสทามีนสูง สามารถลดปริมาณฮิสทามีนในน้ำปลาได้โดยไม่มีผลต่อคุณลักษณะโดยรวมและเป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป และสามารถนำเซลล์กลับมาใช้ได้หลายครั้ง ผลงานวิจัยนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกน้ำปลาของไทย ลดการสูญสียจากการกักกัน และปฏิเสธสินค้าผลิตภัณฑ์น้ำปลาจากประเทศคู่ค้าและสามารถช่วยผลักดันการส่งออกน้ำปลาไทยได้เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ คุณสมบัติ รักประทานพร ผู้ช่วยวิจัยห้องปฏิบัติการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร เป็นผู้ร่วมวิจัยในผลงานเรื่อง “การพัฒนาการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสในกุ้งด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี” ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเด่น
สำหรับรางวัลวิทยานิพนธ์ มีผลงานจากนักวิจัยไบโอเทคได้รับรางวัล 2 ผลงานได้แก่
- วิทยานิพนธ์เรื่อง “การพัฒนาเซลล์ที่มีประสิทธิภาพโดยใช้เครื่องมือทางชีววิทยาระบบ” ของ ดร. พรกมล อุ่นเรือน นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ โดยมี Prof. Dr. Friedrich Srienc จาก University of Minnesota-Twin Cities สหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดีเด่น
- วิทยานิพนธ์เรื่อง “ลักษณะสมบัติและการวิเคราะห์หน้าที่ของยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบโพรฟีนอลออกซิเดสจากกุ้งกุลาดำ Penaeus monodon” ของ ดร. วลัยพร เจริญทรัพย์ศรี นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ. ดร. อัญชลี ทัศนาขจร ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูชีววิทยาและจีโนมกุ้ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และ ดร. ปิติ อ่ำพายัพ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอณูชีววิทยาและจีโนมกุ้ง ร่วมเป็นที่ปรึกษา ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยม
ประกาศเมื่อ 18 มกราคม 2556