งานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการของจุลินทรีย์ที่มีความซับซ้อนและการค้นหาเอนไซม์ในการย่อยสลายสารชีวมวลในธรรมชาติแล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมสีเขียว โดยการนำเทคโนโลยีเมตาจีโนมิกส์มาใช้เพื่อค้นหายีนที่กำหนดการสร้างเอนไซม์ที่มีศักยภาพในการย่อยชีวมวลจากแหล่งทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศ ซึ่งช่วยทำให้เข้าใจกระบวนการทางชีวเคมีในการย่อยองค์ประกอบของชีวมวลในธรรมชาติและพัฒนาระบบการทำงานเสริมกันของเอนไซม์ในการย่อยชีวมวลเป็นน้ำตาล พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการผลิตเอนไซม์ต้นแบบที่มีความเหมาะสมในการนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีการแยกองค์ประกอบของชีวมวลที่ใช้พลังงานต่ำด้วยตัวทำลายอินทรีย์ร่วมกับการใช้ความร้อน ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ พลังงาน และสารเคมีเพิ่มมูลค่า (Biorefinery) โดยการค้นหาเอนไซม์ที่มีศักยภาพในการย่อยสลายลิกโนเซลลูโลสจากเชื้อจุลินทรีย์แล้วทำการพัฒนาระบบเอนไซม์ให้มีความเหมาะสมสำหรับการผลิตเอนไซม์ต้นแบบด้วยเทคนิคทางเมตาจีโนมิกส์และใช้ bioinformatics เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลยีนในเชิงลึกทำให้ทราบข้อมูลของกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์และข้อมูลของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเอนไซม์ย่อยสลาย ชีวมวลที่นำไปสู่ความเข้าใจกระบวนการทางชีวเคมีของสารชีวมวลจากพืชในธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้พัฒนา Enzyme library เพื่อเก็บรวบรวมเอนไซม์ที่ได้จากจุลินทรีย์สำหรับการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม
รางวัล Young Asian Biotechnologist Prize เป็นรางวัลที่สนับสนุนงานวิจัยและยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่โดดเด่นทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากหลากหลายประเทศในโซนเอเชีย โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในงานประชุม The 70th the Society for Biotechnology Annual Meeting ประจำปี 2561 ในวันที่ 5 กันยายน 2561 ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ประกาศเมื่อ 27 สิงหาคม 2561