Biorefinery and Bioproduct Technology Research Group
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ มีเป้าหมายและพันธกิจในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจุลินทรีย์ของประเทศ โดยเน้นการพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ กระบวนการทางจุลินทรีย์และเอนไซม์ และนวัตกรรมในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ เอนไซม์ สารชีวเคมีภัณฑ์ ชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมทั้งการใช้ประโยชน์วัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศและแหล่งคาร์บอนหมุนเวียน (Renewable carbon) ต่างๆโดยใช้เทคโนโลยีแบบสหสาขาวิชาซึ่งบูรณาการองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมเคมี รวมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการแพทย์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของประเทศ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ประกอบด้วย 4 ทีมวิจัย และ 1 โครงการห้องปฏิบัติการร่วม
· ทีมวิจัยเคมีอินทรีย์ชีวภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สารเคมีและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในกลุ่ม specialty chemical จากจุลินทรีย์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านเคมีอินทรีย์ และเคมีสังเคราะห์ เพื่อเป้าหมายในการนำไปใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งดำเนินการร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
· ทีมวิจัยเทคโนโลยีเอนไซม์ มีเป้าหมายหลักในการเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีในการค้นหาเอนไซม์และยีนที่กำหนดการสร้างเอนไซม์จากแหล่งทรัพยากรชีวภาพของประเทศ และประยุกต์ใช้เอนไซม์ในกระบวนการทางอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี อาหารสัตว์ สิ่งทอ เยื่อกระดาษ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly products and processes) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ
· ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชและแมลงพาหะนำโรคด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาชีวภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมวิจัยมุ่งเน้นการวิจัยตั้งแต่ระดับพื้นฐานเกี่ยวกับราแมลงและโปรตีนจากแบคทีเรียที่มีศักยภาพในควบคุมแมลงศัตรูพืชและแมลงพาหะนำโรค การพัฒนากระบวนการผลิต การปรับปรุงสูตรชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมและการประยุกต์ใช้ชีวภัณฑ์ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรื่อนจนถึงระดับภาคสนาม รวมทั้งการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเอกชนโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
· ทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์เพื่อผลิตชีวโมเลกุล มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการออกแบบและพัฒนาระบบจุลินทรียเพื่อผลิตโปรตีน เอนไซม์และสารชีวเคมีภัณฑ์ โดยงานวิจัยมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบ heterologous gene expression system ของประเทศทั้งในกลุ่มยีสต์ และแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการทดแทนการใช้ระบบจุลินทรีย์ทางการค้า และการสร้างสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์ต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic biology) ร่วมกับการพัฒนาชีวกระบวนการที่มีประสิทธิภาพเพื่อผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์เป้าหมายทั้งในกลุ่ม commodity และ specialty chemicals
· โครงการห้องปฏิบัติการร่วมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพแบบบูรณาการ (BIOTEC-JGSEE Integrated Biorefinery Laboratory) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไบโอเทคและบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการเป็น focal point เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีแบบสหสาขาวิชาซึ่งบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์ร่วมกับกระบวนการทางวิศวกรรมเคมี การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และแหล่งคาร์บอนหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการผลักดันอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของประเทศร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ผู้อำนวยการ
ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา
ติดต่อ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120
เว็บไซต์