สวทช. มธ. และ Queen’s University Belfast แถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ International Joint Research Center on  Food Security

8 กรกฎาคม 2565 – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast (QUB) สหราชอาณาจักร ประกาศเปิดศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) มุ่งผลิตงานวิจัยระดับโลกเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน

                                     

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก   สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในสาขายุทธศาสตร์ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economic Model) ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า GDP จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานความพร้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยการยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

Prof. Dr. Christopher Elliott OBE, Institute for Global Food Security, Queen’s University Belfast เปิดเผยว่า “ไบโอเทค และ Institute for Global Food Security, QUB มีความร่วมมือทางการวิจัยเรื่องความปลอดภัยทางอาหารและการพัฒนาบุคากรมามากกว่า 10 ปีแล้ว ความร่วมมือดังกล่าวมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อเนื่อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันได้ขยายครอบคลุมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างผลกระทบในทุกมิติทั้งการร่วมวิจัย การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนักศึกษาและการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยในเดือนมกราคม 2565 ผู้บริหาร QUB ได้ตัดสินใจสนับสนุนการจัดตั้ง IJC-FOODSEC เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเป็นเลิศทั้ง 3 มิติข้างต้นในระดับอาเซียน”

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า “สวทช. ได้จัดตั้ง Sustainable Food and Functional Ingredient Agenda เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ไว้ที่จุดเดียว หรือ One Stop Service และยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการวิจัย สู่การทดสอบระบบการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พร้อมถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างครบวงจร การจัดตั้ง IJC-FOODSEC ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของงานวิจัยด้านอาหารของสวทช. โดยเฉพาะการที่ สวทช. มีโอกาสได้ร่วมงานกับพันธมิตรเช่น Queen’s University Belfast ซึ่งมีความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารในระดับโลก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

 

IJC-FOODSEC มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต เพื่อลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร นอกจากนี้ยังมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเทศและศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในเรื่องสารพิษจากรา เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยและ ASEAN ให้มีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในระดับโลก

รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “แผนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นโจทย์จากความต้องการของภาคเอกชนตั้งแต่เริ่มต้นถือเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมอาหาร  อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารเสริมสัตว์ ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และเกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนต่อไป” รศ. เกศินี วิฑูรชาติ กล่าวต่อไปว่า “นักวิจัยภายใต้ IJC-FOODSEC ได้พัฒนาผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริงหรือมีประสิทธิภาพในการนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ในประเทศและระดับภูมิภาค”

ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security) ตั้งอยู่ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. คณะผู้บริหารประกอบด้วย Prof. Dr. Christopher Elliott, QUB ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ ศ.ดร. นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ ผศ.ดร.อวันวี เพ็ชรคงแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์