งานเสวนา “ชิมข้าวใหม่ เที่ยวบ้านดอนไฟ ไหว้พระเจ้าทันใจพันปี”

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 ณ แปลงข้าวบ้านดอนไฟ ต.ดอนไฟ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (SCG) จัดงานเสวนา “ชิมข้าวใหม่ เที่ยวบ้านดอนไฟ ไหว้พระเจ้าทันใจพันปี” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค และ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้อำนวยการไบโอเทค เข้าร่วมในงานดังกล่าว

นอกจากการเสวนาฯ แล้ว ยังเปิดให้มีการชิมข้าวพันธุ์ “หอมสยาม 2” และการประกาศผลการประกวดรวงข้าวพันธุ์ “หอมสยาม 2” โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พันธุ์ข้าวหอมสยาม 2 สร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตข้าว สู่อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร  ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

“ข้าวหอมสยาม 2” มีคุณสมบัติทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง คุณภาพการหุงต้มดี รสชาติอร่อย มีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม โดยข้าวพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์โดยการออกแบบเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนให้ทนทานหรือต้านทานต่อสภาพแวดล้อมวิกฤต โรค และแมลง ด้วยการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยในการคัดเลือก (MAS)” ซึ่งมีคณะนักวิจัย นำโดย ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว ดร.โจนาลิซา แอล เซี่ยงหลิว และทีมงานไบโอเทค ร่วมกับ ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มโปรแกรมเกษตรสมัยใหม่ สวทช. ในการพัฒนาชุดข้าวขาวดอกมะลิ 105 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทดสอบศักยภาพและเสถียรภาพในการให้ผลผลิตในสภาพพื้นที่นาน้ำฝน เพื่อนำพันธุ์ที่ได้มาใช้ในชุมชนและทำให้ชุมชนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้เองอีกทางหนึ่ง

ข้าวหอมสยาม 2” มีการปลูกทดสอบผลผลิตแล้วในปี 2564 จำนวน 11 จังหวัด และในปี 2565 ได้ปลูกทดสอบผลผลิตในแปลงเกษตรกร จำนวน 3 จังหวัด ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ         โดยภาคเหนือ ร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ในพื้นที่บ้านดอนไฟ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง                   พบว่า ข้าวหอมสยาม 2 ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดังกล่าว คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 800 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 1.5 เท่า โดยได้รับการยอมรับจากชุมชนอย่างดียิ่ง