นักวิจัยไบโทคได้รับรางวัล 2023 OUTSTANDING ONE HEALTH RESEARCHER IN AQUACULTURE AWARD จาก The Foundation for Conservation of Biodiversity (FUCOBI) สาธารณรัฐเอกวาดอร์

ดร.ศุภรัตน์ แตงชัยภูมิ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา–แดงติ๊บ และ ศ.ดร. ทิมโมที เฟลเกล ได้รับรางวัล 2023 OUTSTANDING ONE HEALTH RESEARCHER IN AQUACULTURE AWARD จาก The Foundation for Conservation of Biodiversity (FUCOBI) สาธารณรัฐเอกวาดอร์ จากผลงานวิจัยบุกเบิกที่เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสารพันธุกรรมของไวรัสที่แทรกอยู่ในจีโนมของกุ้งหรือ endogenous viral elements (EVEs)

นักวิจัยจากทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำร่วมกับทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งได้ค้นพบองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกลไกของระบบการป้องกันตัวของกุ้งจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาเรื่องนี้มามากกว่า 1 ทศวรรษ โดยงานวิจัยนี้เริ่มจากการค้นพบการติดเชื้อไวรัสแบบเชื้อคงอยู่ (persistent infection) ในกุ้งที่รอดตายภายหลังการระบาดของเชื้อไวรัส ที่มีความสัมพันธ์กับการมี EVEs ของไวรัสชนิดนั้นๆในจีโนมของกุ้ง โดยตั้งสมมติฐานว่า EVEs เป็นโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการจดจำไวรัสของกุ้ง ผลงานวิจัยต่อมาพบว่า EVEs เป็นต้นแบบในการสังเคราะห์ viral copies DNA หรือ vcDNA ที่มีทั้ง circular form (cvcDNA) และ linear form(lvcDNA) ได้ ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการแยก cvcDNA ออกจากกุ้งที่มี EVEs และกุ้งที่ติดเชื้อ Infectious Hypodermal and Haematopoietic Necrosis virus (IHHNV) และเมื่อนำมาฉีดกลับเข้าไปในกุ้งที่ติดเชื้อ สามารถลดจำนวนไวรัสลงได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโมเลกุล cvcDNAs ให้เป็นวัคซีนต้านไวรัสสำหรับกุ้ง

การค้นพบองค์ความรู้ข้างต้นเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งทะเลให้สามารถทนการติดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรง เช่น ไวรัสตัวแดงดวงขาว โดยใช้กลไกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองในกุ้ง การค้นพบว่า EVEs สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกได้ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ในการสร้างสายพันธุ์กุ้งที่ทนต่อการติดเชื้อไวรัส

พิธีมอบเกียรติบัตรจะจัดขึ้นที่งาน 115th Annual Meeting of the National Shellfisheries Association (NSA) ที่เมืองบัลติมอร์ (Baltimore) สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 28 มีนาคม 2566