ไบโอเทค จับมือ มจธ. เปิดบ้านต้อนรับคณะจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สถานทูตอเมริกา และบริษัทด้านพลังงานทดแทนจากนานาชาติเพื่อส่งเสริมความร่วมมือพลังงานชีวภาพ

27 ตุลาคม 2566 – ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดบ้านต้อนรับคณะผู้แทนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สถานทูตอเมริกา และบริษัทด้านพลังงานทดแทนจากนานาชาติ โดยการเยี่ยมชมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม GBEP Bioenergy Week ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ตุลาคมถึง 27 ตุลาคม 2566 ณ กรุงเทพฯ

ไบโอเทคและมจธ. มีความร่วมมือมายาวนานกว่าสองทศวรรษ โดยเป็นผู้นำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยยกระดับห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง การปรับปรุงพันธุ์เพื่อการเพิ่มผลผลิต และทำให้มันสำปะหลังมีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูป หรือใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะ ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการผลิต จนถึงการใช้เทคโนโลยีในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำเสียและกากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน

ดร.วรินธร สงคสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค กล่าวนำเสนอเรื่องราวความสำเร็จและการถอดบทเรียน โครงการ “Overcoming Policy, Market and Technological Barriers to Support Technological Innovation and South-South Technology Transfer: the Pilot Case of Ethanol Production from Cassava” ที่ได้รับสนับสนุนทุนจาก The Global Environment Facility (GEF), UN Framework for Climate Change Convention (UNFCCC) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและขจัดอุปสรรคในการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังจากประเทศไทยไปยัง สปป. ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (LMV)

คณะผู้แทนฯ ได้เข้าเยี่ยมชมงานวิจัยและเทคโนโลยีของไบโอเทคและ มจธ. จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ นิทรรศการเกี่ยวกับการยกระดับห่วงโซ่คุณค่ามันสำปะหลังในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดย ดร.กาญจนา แสงจันทร์ นักวิจัยทีมวิจัยการใช้และการจัดการของเสีย ไบโอเทค ได้อธิบายความสำเร็จในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลังในภูมิภาค CLMVT ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีและการสร้างความสามารถบุคลากร โรงงานต้นแบบผลิตเอทานอล (Ethanol Pilot Plant)ซึ่ง ผศ. ดร.วีระ โลหะ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มจธ. ได้กล่าวนำถึงภาพรวมนวัตกรรมในการผลิตเอทานอล ห้องปฏิบัติการก๊าซชีวภาพ ดร.เบญจพล สุรารักษ์ หัวหน้าทีมวิจัยทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร ไบโอเทค สาธิตภารกิจของห้องปฏิบัติการในการจัดการกับของเสี ห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด นำบรรยายเรื่องระบบเซลล์แสงอาทิตย์และระบบสะสมพลังงานโดย ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง อาจารย์จาก มจธ. และ ผศ.ดร.ปฐมาภรณ์ ศรีผดุงธรรม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปิดท้ายที่กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย (Algal Biotechnology Research Laboratory) ซึ่งมี ดร. กัลยาณี ไพฑูรย์รังสฤษดิ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยชีวศาสตร์และชีววิทยาระบบ ไบโอเทค และ ดร.วิภาวรรณ เสียงดัง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสาหร่าย ล่าวถึงความสามารถของโรงงานในการใช้น้ำเสียจากแป้งมันสำปะหลังเป็นสารตั้งต้นในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าที่มีผลผลิตสูงในระดับอุตสาหกรรม