ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Honorary Professor โดย Queen’s University Belfast สหราชอาณาจักร

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง Honorary Professor จาก Queen’s University Belfast สหราชอาณาจักร

Queens University dr.nisara
ดร.นิศรา มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติมากกว่า 70 เรื่อง มีดัชนีผู้ประพันธ์ (author h-index) 21 ยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการพัฒนาชุดตรวจ 22 ฉบับอนุสิทธิบัตร 8 ฉบับ มีต้นแบบจากงานวิจัย 13 ต้นแบบ ข้อตกลงความลับทางการค้า (Trade Secret) ได้รับเชิญเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยมากกว่า 80 เรื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผู้ประเมินผลงานตีพิมพ์ให้วารสารนานาชาติมากกว่า 20 วารสาร และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินข้อเสนอโครงการให้กับสหภาพยุโรป (European Union-EU)

ทั้งนี้ ดร.นิศรา เป็นผู้ริเริ่มสร้างความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัย Queen’s University Belfast ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีซึ่ง Queen’s University Belfast ถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้รับการจัดอันดับที่ 9 ของโลกในสาขา research collaboration ในปี พ.ศ.2557 และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มรัสเซล (Russell Group) ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาราจักร 24 แห่ง

ทั้งนี้ ดร.นิศรา ได้เริ่มทำงานกับ Queen’s University Belfast จากการได้รับทุนวิจัย Marie Curie International Incoming Fellowships (IIF) จากสหภาพยุโรป (European Union) ภายใต้ Framework Program 7 (270,000 EUR) เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อปฏิบัติงานวิจัยเรื่อง “Pathfinder: Rapid and Reliable Detection of Foodborne Pathogens by Employing Multiplexing Biosensor Technology” ที่มหาวิทยาลัย Queen’s University Belfast สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่าง ไบโอเทค และ Queen’s University Belfast โครงการนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีไบโอเซนเซอร์เพื่อใช้ในการตรวจสอบเชื้อก่อโรคในอาหารโดย ดร.นิศรา ได้นำความเชี่ยวชาญทางด้านไมโครอะเรย์ไปทำงานร่วมกับ Professor Chris Elliott ผู้อำนวยการ Institute of Agriculture and Land Use, Queen’s University Belfast (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านไบโอเซนเซอร์ด้านเกษตรและอาหาร ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าว ดร.นิศรา ได้ไปปฏิบัติงาน ณ Queen’s University Belfast เป็นระยะเวลา 2 ปีระหว่างปี พ.ศ. 2554-พ.ศ. 2556

ดร.นิศรา ยังมีผลงานวิจัยร่วมกับ Queen’s University Belfast อื่นๆ อีกด้วย เช่น การตีพิมพ์งานวิจัยร่วมกันมากกว่า 10 ผลงาน ดำรงตำแหน่ง Co-supervisor ของนักศึกษาระดับปริญญาเอกและนักวิจัยหลังปริญญาเอกสังกัด Queen’s University Belfast ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2564

นอกจากนี้ล่าสุดในปีพ.ศ.2564 ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ร่วมกับพันธมิตรในประเทศไทยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ Queen’s University Belfast ยังได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติจำนวน 9 ล้านบาทในโครงการพัฒนาชุดตรวจสารพิษจากราแบบแถบทดสอบที่พัฒนาจากเทคนิคไมโครอะเรย์ (MycoSMART: Mycotoxin Strip based on MicroARay Technology) อีกด้วย