BIOTEC

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ

 

ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (ทีมวิจัยตั้งอยู่ ณ สถาบันเครือข่ายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ โดยใช้ Molecular Breeding เน้นที่พืชเศรษฐกิจ ตัวอย่าง เช่น ข้าวโดยเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค (Tailor-made varieties) และ เน้นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค โดยพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้น มีความทนทานตามธรรมชาติต่อโรค-แมลงศัตรูพืชและปรับตัวได้ดีต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก “breeding platform” เพื่อศึกษาเข้าใจหน้าที่และกลไกการทำงานของยีนที่มีผลกระทบต่อการแสดงออกของลักษณะสำคัญต่างๆ ทางเศรษฐกิจ โภชนาการและความต้านทานต่อสภาวะเครียดของข้าว รวมทั้งการนำข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศ และเป็นศูนย์กลาง (regional hub) ของการใช้เทคโนโลยีด้าน marker assisted selection (MAS) นอกจากนั้นยังใช้องค์ความรู้ทางด้านจีโนมในการปรับปรุงพันธุ์พืชอื่นๆ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาระบบติดตามการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของข้าวอีกด้วย

พันธกิจ
• ประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องตำแหน่งยีนในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความหอม โภชนาการ ความต้านทานต่อศัตรูและสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคตามธรรมชาติต่อการให้ผลผลิตของข้าว

• ค้นหาแหล่งความต้านทาน เทคนิคการศึกษาลักษณะฟีโนไทป์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อค้นหายีนต้านทานโรค-แมลงอุบัติใหม่ได้แก่ โรคใบขีดโปร่งแสง (bacterial leaf streak), โรคเมล็ดด่าง (dirty panicle disease) และ บั่ว (gall midge) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความต้านทานที่ยั่งยืน และ กว้างขวาง (durable and broad spectrum)

• สร้างความหลากหลายทางชีวภาพโดยการกระตุ้นก่อกลายพันธุ์ด้วยรังสีเพื่อค้นหายีน เน้นค้นหาข้าวกลายพันธุ์ที่ต้านทานโรค-แมลง (biotic stress), ต้านทานสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (abiotic stress), ให้ผลผลิตสูง, มีคุณภาพโภชนาการที่ดี, ต้านทานสารกำจัดวัชพืช และ เพศผู้เป็นหมัน เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว

• ประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านจีโนมในการวางตำแหน่งยีนโดยการศึกษาความสัมพันธ์ทั้งจีโนม (genome wide association study) ร่วมกับการวิเคราะห์ QTL

• ศึกษาหน้าที่ของ candidate gene โดยการศึกษา allele-specific gene expression, พัฒนาข้าวสายพันธุ์แฝด (isogenic line) และ พัฒนา functional marker เป็นต้น

• ศึกษาการตอบสนองและความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป (resilience to climate change) โดยเน้น global warming ทำให้สามารถพัฒนาข้าวที่ให้ผลผลิตสม่ำเสมอในอนาคต เน้น อุณหภูมสูง และ ประสิทธิภาพการใช้นำ (water use efficiency) โดยพัฒนาเทคนิคการศึกษาลักษณะฟีโนไทป์ (phenomics) ที่มีประสิทธิภาพสูง (high throughput) และมีความละเอียดสูง (high resolution)

• พัฒนาระบบการทดสอบลักษณะทางพันธุกรรมแบบประสิทธิภาพสูง (high throughput genotyping)

• เก็บรวบรวมสายพันธุ์เชื้อสาเหตุโรคไหม้ และ โรคขอบใบแห้ง รวบรวมประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพื่อให้บริการทดสอบความต้านทานในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว

• พัฒนา breeding platform ที่เหมาะสมกับ MAS และ gene pyramiding เช่น สร้างสายพันธุ์ donor ของลักษณะความต้านทานที่ลดทอนชิ้นส่วนจีโนมผู้ให้ (linkage drag) ให้เหลือน้อยที่สุด, พัฒนาเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น backcross, pedigree selection, population improvement เพื่อทำให้การปรับปรุงพันธุ์แบบ MAS มีประสิทธิภาพ

• พัฒนาระบบชีวสารสนเทศ (bioinformatics) และพัฒนาฐานข้อมูลชนิด genome browser รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ และ ปรับปรงพันธุ์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้าน molecular breeding

• ขยายผลถ่ายทอดผลงานวิจัยให้ถึงมือผู้ใช้ (เกษตรกร, ผู้บริโภค, นักสงเสริม) โดยการขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าว, การขอจดขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชและคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, การจดสิทธิบัตรนวัตกรรม, การเผยแพร่ข้อมูลลำดับเบส, การตีพิมพ์ผลงานวิจัย เอกสารเชิงเทคนิคและเอกสารคู่มือ, การจัดฝึกอบรม-เวิร์คชอป และ การจัดสัมมนาวิชาการ

1. ค้นหายีนในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเช่น ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ฯลฯ โดยยีนที่สนใจได้แก่ ลักษณะคุณภาพข้าว ความต้านทานโรค-แมลง ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตจนกระทั่งให้ผลผลิต เช่น สภาพน้ำท่วม ดินเค็ม ร้อน แล้ง และ หนาว เป็นต้น
2. พัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อใช้ติดตามลักษณะสำคัญทางการเกษตรของพืชเศรษฐกิจ
3. ปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ที่ใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก (Marker-assisted selection) เป้าหมายพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงมีทั้งพันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝน พันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทาน และพันธุ์ข้าวลักษณะพิเศษที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ

1. การพัฒนาพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown planthopper, BPH) โดยการทำให้ข้าวเกิดการกลายพันธุ์ด้วยรังสีฟาสต์นิวตรอน

การพัฒนาพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นทางเลือกในการควบคุมแมลงต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในการศึกษานี้ได้ค้นหายีนต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว (Oryza sativa L.) โดยใช้เทคนิค double digest restriction site-associated DNA sequencing (ddRADseq) ร่วมกับเทคนิค quantitative trait loci (QTL)-seq ในประชากรข้าวสายพันธุ์แฝดผสมกลับ (backcross inbred lines, BILs) ระหว่างข้าวราตูฮีนาติซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (RH) กับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (KDML105) พบว่าบริเวณจีโนม QBPH4.1 และ QBPH4.2 บนโครโมโซมที่ 4 ของข้าวมีความสัมพันธ์กับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยยีนที่มีความสำคัญในบริเวณจีโนมทั้งสองได้แก่ ยีน lectin receptor kinase 3 (OsLecRK3) และยีน sesquiterpene synthase 2 (OsSTPS2) ตามลำดับ เมื่อนำเครื่องหมายดีเอ็นเอจากยีนทั้งสองมาคัดเลือกในประชากรข้าวเจ้าหอมนิลซึ่งเป็นพันธุ์อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งถูกทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ด้วยรังสีฟาสต์นิวตรอน (n = 9,323) พบข้าวกลายพันธุ์จำนวน 19 สายพันธุ์ ที่มีการกลายพันธุ์ที่ยีนทั้งสอง อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 สายพันธุ์ (JHN4) ที่มีความต้านทานสูงต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และจำนวน 3 สายพันธุ์ (JHN09962, JHN12005, JHN19525) ที่ต้านทานปานกลางต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ผลการวิเคราะห์จีโนไทป์ด้วยเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิปและแบบ insertion-deletion (Indel) ค้นพบ gene-specific haplotype patterns (HPs) ที่จำเป็นสำหรับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยพบว่า HPs ของยีน OsLecRK2-3, OsSTPS2 และ BPH32 ควบคุมความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าวสายพันธุ์แฝดผสมกลับ (BILs) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ ในทางตรงกันข้ามค้นพบ HPs ของยีน BPH9 ยีนต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบนโครโมโซมที่ 12 และยีนอื่น ๆ อีก 7 ยีนบนโครโมโซมที่ 4 ซึ่งควมคุมความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าวกลายพันธุ์ด้วยรังสีฟาสต์นิวตรอน โดยองค์ความรู้ที่ค้นพบสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลต่อไป (ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ร่วมมือกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน [Rice (2019) 12(16): 1-26, IF 2017 = 3.039]

2. การวางตำแหน่ง QTL ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการยืดตัวของเมล็ดข้าวสุก ใกล้กับตำแหน่งยีนที่สร้างเอนไซม์ soluble starch synthase และ starch branching enzymes ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แป้งในเมล็ดข้าว ด้วยวิธีการ QTL-seq

คุณภาพของข้าวเป็นเป้าหมายหลักในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีสายพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลาย สำหรับคุณลักษณะที่แสดงถึงคุณภาพของเมล็ดข้าว ได้แก่ ความหอม ปริมาณอะไมโลส อุณหภูมิที่ทำให้เกิดการเจลาติไนเซชัน (gelatinization temperature) ซึ่งทำให้เม็ดสตาร์ชพองตัวเต็มที่และสุก โดยเฉพาะการยืดตัวของเมล็ดข้าวในทางยาว (lengthwise grain elongation (GE)) เป็นคุณลักษณะของข้าวพรีเมี่ยมที่มีคุณภาพสูง เช่น ข้าวบาสมาติของประเทศอินเดียและปากีสถาน ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับการควบคุมทางพันธุกรรมของลักษณะการยืดตัวของเมล็ดข้าว เนื่องจากลักษณะนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อนและมีรูปแบบไม่สม่ำเสมอ ในการศึกษานี้จะทำการค้นหา quantitative trait loci (QTL) ที่ควบคุมลักษณะการยืดตัวของเมล็ดข้าวสุก โดยใช้การวิเคราะห์ด้วยเทคนิค bulk-segregant analysis (BSA) และการหาลำดับเบสทั้งจีโนมโดยใช้ประชากรข้าวรุ่นที่ 2 (F2) ที่มีการกระจายตัวของลักษณะการยืดตัวของเมล็ดข้าว ลักษณะปริมาณอะไมโลสและและลักษณะอุณหภูมิที่เกิดการเจลาติไนเซชัน ผลการศึกษาสามารถวางตำแหน่ง QTL จำนวน 2 ตำแหน่งได้บนโครโมโซมที่ 6 ได้แก่ qGE6.1 และ qGE6.2 และสามารถวางตำแหน่ง QTL ได้อีกหนึ่งตำแหน่งบนโครโมโซมที่ 4 ได้แก่ qGE4.1 ทังนี้ พบว่า QTL ทั้งสามอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับยีนที่มีหน้าที่ในการสร้างเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์แป้ง โดย QTL qGE6.1 และ qGE6.2 อยู่ใกล้กับยีนสตาร์ชซินเทส IIa [starch synthase IIa (SSIIa)] และยีนสตาร์ชบรานชิงเอนไซม์ III [(starch branching enzyme III (SBEIII)] ตามลำดับ และ QTL qGE4.1 อยู่ใกล้กับยีนสตาร์ชบรานชิงเอนไซม์ SBEIIa [starch branching enzyme IIa (SBElla)] ทั้งนี้ QTL qGE6.1 เป็น QTL หลักสำหรับลักษณะการยืดตัวของเมล็ดข้าวสุกในประชากรกลุ่มดังกล่าว และยีน SSlla อาจเป็นยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับลักษณะดังกล่าว องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยจะมีประโยชน์สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะการยืดตัวของเมล็ดข้าวเมื่อหุงสุกและมีคุณภาพแป้งที่แตกต่างกัน (ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ร่วมกับคณะเกษตร กำแพงแสน และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) [Scientific Report, 2019, 9:8328, 1-10 (IF 2018 = 4.011)]

3. การศึกษารูปแบบความเชื่อมโยงในจีโนม (Genome-wide association mapping) ของยีนในเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไหม้ในข้าว (Magnaporthe oryzae) โดยใช้เทคนิค genotyping by sequencing

การศึกษาเชื้อรา Magnaporthe oryzae (M. oryzae) ที่ทำให้เกิดโรคไหม้ในพืชหลายชนิด โดยทำการแยกเชื้อราจากข้าวจำนวน 73 ชนิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996-2014 และนำเทคนิค genotyping by sequencing (GBS) ที่มีการใช้ restriction เอนไซม์เพื่อตัดลำดับเบสทำให้ไม่จำเป็นต้องหาลำดับเบสทั้งจีโนม มีราคาถูกและทำได้รวดเร็ว นำมาประยุกต์ใช้ในการจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปที่อยู่ในบริเวณตำแหน่งยีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในการก่อโรคไหม้จำนวน 831 เครื่องหมาย และศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม ผลจากการวิเคราะห์โครงสร้างประชากรของเชื้อราที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคไหม้ในข้าว พบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับระดับความรุนแรงของการเกิดโรคไหม้ นอกจากนี้ผลการศึกษาแผนที่ซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรม (association mapping) และลักษณะทางฟีโนไปท์ที่สนใจ พบว่ามีเครื่องหมายสนิปจำนวน 5 เครื่องหมาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคไหม้บนโครโมโซมที่ 1, 2, 3, 4 และ 7 โดยเครื่องหมายสนิปบนโครโมโซมที่ 1 มีความสัมพันธ์กับยีนที่เป็นสาเหตุของโรคไหม้ในข้าวสายพันธุ์ RD6-Pi7 และ IRBL7-M ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับยีน AvrPi7 ตามที่เคยมีการรายงานก่อนหน้านี้แล้ว องค์ความรู้ที่ค้นพบจะมีประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลที่จำเพาะกับยีนในเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไหม้ในข้าวเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ต้านทานต่อโรคไหม้ต่อไป (หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าวร่วมมือกับห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม หน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม และคณะวิทยาศาสตร์และคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) [Genomics, 2019, 111(4): 661-668]

4. การพัฒนาพันธุ์ข้าวราตูเฮนาติที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ทำการวางตำแหน่งยีนโดยทดสอบด้วยเพลี้ย จำนวน 6 ประชากรที่สำรวจเก็บจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย พบว่าดีเอ็นเอเครื่องหมายจากโครโมโซม 4, และ 6 มีความสัมพันธ์กับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เมื่อทำการวิเคราะห์การแสดงออกของ candidate gene ลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่วางตัวอยู่บริเวณโครโมโซม 6 จำนวน 47 ยีน พบว่ามีจำนวน 7 ยีน ที่ถูกกระตุ้นให้แสดงออกมากขึ้นเมื่อข้าวราตูเฮนาติ ถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเข้าทำลายนาน 24 ชั่วโมง

ผลการดำเนินงานในปี 2561 สามารถพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลที่มีความสัมพันธ์กับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าวพันธุ์ราตูเฮนาติ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากประเทศศรีลังกา โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลมาช่วยในการคัดเลือก (marker assisted selection, MAS) ร่วมกับการคัดเลือกลักษณะทางฟีโนไทป์ด้วยวิธีมาตรฐาน (conventional phenotypic selection) เพื่อพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิปที่เกี่ยวข้องกับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยพัฒนาประชากรผสมกลับ BC3F5 ของข้าวสายพันธุ์แท้ (inbred line) จากพันธุ์ข้าวราตูเฮนาติกับพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทดสอบความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เก็บรวบรวมจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยจำนวน 6 กลุ่มประชากร พบยีนในบริเวณโครโมโซมที่ 4 ใกล้กับเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิป (เครื่องหมาย LecRK2-SNP และ LecRK3-SNP) และบริเวณโครโมโซมที่ 6 ใกล้กับเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิป (เครื่องหมาย Bph32-SNP) และเครื่องหมายโมเลกุลแบบ simple sequence repeat (SSR) (เครื่องหมาย SSR23) เมื่อวิเคราะห์การแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบนโครโมโซมที่ 6 ในบริเวณเครื่องหมาย Bph32-SNP และ SSR23 ซึ่งมีการแสดงออกมากขึ้นเมื่อข้าวราตูเฮนาติถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเข้าทำลายเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับข้าวราตูเฮนาติชุดควบคุม พบยีนที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนในกลไกการต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 8 ยีน โดยผลการตรวจสอบความถูกต้อง (validate) ของเครื่องหมายโมเลกุลสนิปโดยการศึกษาจีโนไปท์ประชากรข้าวผสมกลับ ได้ค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลแบบสนิปจำนวน 1 เครื่องหมายบนยีน LOC_Os06g03514 ที่แสดงความสัมพันธ์กับลักษณะความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดีกว่าเครื่องหมายโมเลกุลเดิม (Bph32-SNP) องค์ความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าวร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน) [Molecular Breeding, 2018, 38(88), 1-16]

5. การวิเคราะห์สารเมตาโบไลท์แบบองค์รวมของข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ได้ค้นพบสารเมตาโบไลท์ทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องกับกลไกการป้องกันตัวตลอดเวลาและการป้องกันตัวเมื่อมีการเข้าบุกรุกจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงศัตรูข้าวที่เข้าบุกรุกโดยการดูดน้ำจากท่อลำเลียงอาหารของข้าว ทำให้ใบข้าวเหลือง และแห้งตายในที่สุดซึ่งเกิดการระบาดไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความสามารถในการต้านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าวยังมีอยู่อย่างจำกัด การศึกษาการตอบสนองของสารเมตาโบไลท์ในข้าวระยะแตกกอระหว่างข้าวที่อ่อนแอ [BPH-susceptible (KD)] และข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล [BPH-resistant isogenic line (IL308)] ในระยะเวลา 8 วันหลังการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยใช้เทคนิคลิควิดโครมาโทกราฟี [liquid chromatography-quadrupole time-of-flight mass spectrometry (UPLC-QToF-MS)] ร่วมกับเทคนิค multi-block PCA ในการวิเคราะห์สารเมตาโบไลท์ที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ผลการศึกษาพบว่าข้าวที่มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีการเปลี่ยนแปลงของสารเมตาโบไลท์ที่ตอบสนองต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตั้งแต่วันแรกที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเข้าบุกรุกซึ่งเกิดขึ้นแบบรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวที่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลซึ่งจะแสดงการตอบสนองในช่วงวันที่ 4-8 ผลจากการศึกษาชีววิถีพบว่าการรบกวนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีผลต่อกระบวนการทางเคมีของต้นข้าว ได้แก่ กระบวนการสร้างสารเมตาโบไลท์ปฐมภูมิกลุ่มพิวรีน สารเมตาโบไลท์ทุติยภูมิกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์ กลุ่มฟลาโวนอยด์ และกลุ่มเทอร์พีนอยด์ โดยพบว่าสารเมตาโบไลท์ทุติยภูมิเหล่านี้มีบทบาทสำคัญ ในการตอบสนองต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยการเปลี่ยนแปลงของสารเมตาโบไลท์เหล่านี้ พบในสองรูปแบบ คือ 1) รูปแบบการป้องกันตัวตลอดเวลา ที่พบในข้าวสายพันธุ์ต้านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และมีปริมาณสูงกว่าข้าวสายพันธุ์อ่อนแออย่างมีนัยสำคัญ และ 2) รูปแบบการป้องกันตัวที่เกิดขึ้นเมื่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเข้าบุกรุกที่พบในข้าวสายพันธุ์ต้านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหลังถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบุกรุกในปริมาณสูงกว่าข้าวสายพันธุ์อ่อนแออย่างมีนัยสำคัญ องค์ความรู้ที่ได้มีความสำคัญในการนำไปใช้เป็นสารเมตาโบไลท์บ่งชี้ในการตรวจวัดข้าวพันธุ์ต้านทาน หรือนำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อต่อต้านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (ความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Queen’s University Belfast และ University of Liverpool สหราชอาณาจักร และ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอมเริกา) [Metabolomics, 2019, 15:151. (IF2018 = 3.167)]

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ

000926

ธีรยุทธ ตู้จินดา

นักวิจัยอาวุโส (ผู้อำนวยการกลุ่ม)

ที่ปรึกษาอาวุโส

อภิชาติ วรรณวิจิตร

ที่ปรึกษาอาวุโส

Clive Terence Darwell

Clive Terence Darwell

นักวิจัย

ชนากานต์ วงษาพรหม

ชนากานต์ วงษาพรหม

ผู้ช่วยวิจัย

บุรินทร์ ธัญน้อม

บุรินทร์ ธัญน้อม

ผู้ช่วยวิจัย

ศรีสวัสดิ์ ขันทอง

ศรีสวัสดิ์ ขันทอง

ผู้ช่วยวิจัย

ธนาภรณ์ สายหยุด

ธนาภรณ์ สายหยุด

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

สาคร บุตรดี

สาคร บุตรดี

เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป

กนกภรณ์ คำโมนะ

กนกภรณ์ คำโมนะ

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

ข้อมูลการติดต่อ

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์: 02-564-6700