โครงการ Developing decision support tool(s) for mitigating mycotoxins risks caused by climate change ได้รับทุนภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Challenges Research Fund Networking Grants สหราชอาณาจักร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนของการผลิตอาหาร หนึ่งในปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อาหาร สารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin) ที่เกิดจากเชื้อราเป็นกลุ่มสารปนเปื้อนที่ร้ายแรงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน

โครงการ Developing decision support tool(s) for mitigating mycotoxins risks caused by climate change นำโดย ศ.ดร. นิศรา การุณอุทัยศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงด้านอาหาร นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ร่วมกับ Prof. Chris Elliott OBE ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารระดับโลกและผู้ก่อตั้ง Institute for Global Food Security แห่งมหาวิทยาลัย Queen’s University Belfast สหราชอาณาจักร มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศแบบสหสาขาวิชาโดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากทีมวิจัยและสมาคมที่มีอยู่แล้วประกอบด้วย 1.) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ FoodSAFER ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป 2.) Mycotox-I ของสหราชอาณาจักร-ไอร์แลนด์ (กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินและการลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับสารพิษจากเชื้อราตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การปลูกพืชไปสู่ผู้บริโภค) และ 3.) ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงด้านอาหาร (International Joint Research Center on Food Security: JC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือไตรภาคีระหว่าง Queen’s University Belfast (QUB) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศช. เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากประเทศประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วิธีแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริงในแง่มุมต่างๆ ของปัญหาสารพิษจากเชื้อราที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจวัด ผลกระทบจากการสัมผัสต่อสุขภาพสัตว์และมนุษย์ และกลยุทธ์ในการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ผ่านกิจกรรมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานกำกับดูแลที่ได้รับการคัดเลือกจากทวีปยุโรปและเอเชีย โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการจะจัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นอกจากนี้โครงการยังให้ความสำคัญกับการแสวงหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานโครงการร่วมวิจัยในระดับภูมิภาคอาเซียนอันเป็นผลจากการประชุมดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอีกด้วย