BIOTEC

ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์ 

ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย

ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์ (Physiology and Nutrition Research Team, APNT) เป็นหน่วยงานภายใต้กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของโคนมเป็นหลัก เช่นการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมตามระยะเวลากำหนด การย้ายฝากตัวอ่อน โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้าน reproductive biology ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งมอบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ยกตัวอย่างเช่นการแก้ไขปัญหาแม่โคผสมติดยากให้กลับมาตั้งท้องได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งหสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในฟาร์มโคนม และสหกรณ์โคนมหลายแห่งทั่วประเทศ รวมถึงการสร้างรายได้จากงานบริการ นอกจากนี้มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ในกระบวนการหมักพืชอาหารสัตว์สำหรับโค และการใช้จุลินทรีย์จำเพาะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทฯ สหกรณ์โคนมฯ และการศึกษาเพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้ผลพลอยได้ ทางการเกษตรสำหรับเป็นอาหารหยาบสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยการหมักด้วยจุลินทรีย์จำเพาะเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนา ความน่ากิน และ/หรือเพิ่มความย่อยได้เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง

ให้บริการในการแก้ไขปัญหาระบบสืบพันธุ์ทั้งโคเนื้อและโคนมแก่วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์โคนมภายในประเทศ ที่ประสบปัญหา โดยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์แม่โคนมด้วยเทคโนโลยีการเหนี่ยวนำการตกไข่ที่พัฒนาขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาแม่โคผสมติดยากและถูกคัดทิ้งให้กลับมาตั้งท้องได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ขยายผลการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้แม่โคที่มีปัญหาผสมติดยากและต้องคัดทิ้งให้สามารถกลับมาตั้งท้องได้ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ และสระบุรี

ผลงานเด่น ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์

1. งานวิจัยด้านเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์โค
มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาระบบสืบพันธุ์ทั้งโคเนื้อและโคนมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อเหนี่ยวนำการตกไข่และกำหนดเวลาผสม เทียม โดยได้พัฒนาเทคโนโลยี Dairy Plus+ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีการเหนี่ยวนำให้ตกไข่เพื่อผสมเทียมตามกำหนด มาใช้ร่วมกับชุดตรวจ Early P-Check ที่สามารถตรวจการตั้งท้องของแม่โคนมหลังการผสมเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว โดยชุดตรวจดังกล่าวสามารถตรวจการตั้งท้องได้ภายใน 20-24 วัน หลังการผสมเทียม มีความถูกต้อง แม่นยำ และความไวสูง คุณภาพทัดเทียมกับชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ และราคาถูกว่าชุดตรวจที่มีจำหน่ายในเชิงพานิชย์ 40 เท่า นำไปสู่การแก้ปัญหาแม่โคผสมติดยาก เมื่อนำไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมตามระยะเวลากำหนด จะทำให้แม่โคคัดทิ้งกลับมาตั้งท้องใหม่ได้รวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนและแรงงานในการตรวจท้องด้วยอุลตราวาวด์ ส่งผลให้การคัดทิ้งและการสูญเสียโอกาสในการตั้งท้องของแม่โคนมลดลง เพิ่มจำนวนการผลิตน้ำนม และเพิ่มพูนรายรับให้แก่เกษตรกรดคนมได้เป็นอย่างมาก

2. งานวิจัยด้านพืชอาหารสัตว์หมัก
มุ่งเน้นการผลิตพืชอาหารสัตว์หมักคุณภาพดีที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยศึกษาเทคโนโลยี
ต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับผลิตพืชอาหารสัตว์หมัก (silage) สำหรับการเลี้ยงโค (ร่วมกับทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหารและมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ในการหมักอ้อยอาหารสัตว์หมัก และยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรี่องสูตรต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับการหมักอ้อยอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เลขที่คำขอ 1403000929 และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตต้นเชื้อดังกล่าวให้กับภาคเอกชนเพื่อผลิตและจำหน่ายนอกจากนี้ประสบความสำเร็จในการใช้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ช่วยเร่งกระบวนการหมักหญ้าเนเปียร์ให้เร็วขึ้น เมื่อใช้หญ้าหมักดังกล่าวเลี้ยงโคพันธุ์บราห์มัน พบว่าโคมีอัตราการกินอิสระและอัตราการเติบโตสูงกว่าโคที่ได้รับหญ้าเนเปียร์หมักตามธรรมชาติ รวมทั้งได้ศึกษาการใช้กากมันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ทดแทนอาหารสัตว์ชนิดอื่นที่มีราคาสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มความย่อยได้ของกากมันสำปะหลัง เพื่อนำมาเป็นต้นเชื้อปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของกากมันสำปะหลัง เพื่อให้กากมัน-สำปะหลังมีค่าโปรตีนรวมและความย่อยได้รวมสูงขึ้นเหมาะสมสำหรับใช้เป็นพืชอาหารสัตว์หมักต่อไป

 

ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์

000120

ศิวัช สังข์ศรีทวงษ์ล

นักวิจัยอาวุโส

801238

ณรงค์ฤทธิ์ ใจพลแสน

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

003144

สถาปัตย์ เจ๊กแตงพะเนา

เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

004165

ต้องตา สุพรรณ์

เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

005051

นิคส์ ศรีเพียงจันทร์

เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

ข้อมูลการติดต่อ

ทีมวิจัยสรีรวิทยาและโภชนศาสตร์สัตว์
กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์: 02-564-6700