นักวิจัยไบโอเทค ได้รับรางวัล Silver Medal จากการเข้าร่วมประกวดผลงานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์ในงาน The 49th International Exhibition of Inventions Geneva 2567 และรางวัล NRCT Honorable Mention Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร. กาญจนา แสงจันทร์ นักวิจัย ทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร กลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ได้รับรางวัล Silver Medal จากการเข้าร่วมประกวดผลงานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์ในงาน The 49th International Exhibition of Inventions Geneva (Geneva Inventions 2024) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 และรางวัล NRCT Honorable Mention Award จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดไฮโดรไซโคลนสำหรับเพิ่มความเข้มข้นและลดสิ่งเจือปนในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง” (Hydrocyclone for concentration and purification in cassava starch separation unit) ซึ่งเป็นผลงานภายใต้โครงการวิจัยของ ดร. วรินธร สงคศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ดร. อรรณพ นพรัตน์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเป็นความร่วมมือระหว่าง ศช. และ มจธ. ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ของเสียอุตสาหกรรมเกษตร (ECoWaste)

ผลงานวิจัยชุดไฮโดรไซโคลนประสิทธิภาพสูง ได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับขั้นตอนการเพิ่มความเข้มข้นและทำความสะอาดในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังโดยเฉพาะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแยกแป้งและสิ่งเจือปนเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรไซโคลนขนาดอุตสาหกรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป โดยประสิทธิภาพการแยกแป้งสูงกว่า 90% และประสิทธิภาพการแยกโปรตีนและกำมะถันเพิ่มขึ้นเป็น 80% สามารถผลิตผลิตภัณฑ์สุดท้ายอยู่ในเกณฑ์ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด โดยชุดไฮโดรไซโคลนดังกล่าวถูกออกแบบทั้งสัดส่วน รูปแบบ การจัดเรียงโครงข่ายรวมทั้งสภาวะการผลิต ให้มีความเฉพาะและเหมาะสมกับการผลิตแป้งมันสำปะหลัง สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ไฮโดรไซโคลนในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังที่ปัจจุบันมีเพียงขนาดเดียวและใช้กับหลายตำแหน่งในกระบวนการผลิต และอาศัยการลองผิดลองถูก (Trial and Error) หรือความชำนาญของพนักงานของสายการผลิตในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบหรือผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบ รวมทั้งลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและนำเสนอผลงานในเวทีนานาชาติ และ ดร. กาญจนา แสงจันทร์ ได้เป็นหนึ่งในผู้แทน สวทช. เข้าร่วมประกวดในเวทีดังกล่าว