BIOTEC

ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี

ข้อมูลเกี่ยวกับทีมวิจัย

ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยีมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกการก่อโรคของไวรัสสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคระบาดรุนแรงในสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น สุกร โค และสัตว์ปีก ซึ่งในปัจจุบันงานวิจัยครอบคลุมไวรัสในตระกูล orthomyxovirus (influenza virus), paramyxovirus (Newcastle disease virus, NDV), coronavirus (Porcine epidemic diarrhea virus, PEDV), arterivirus (Porcine reproductive and respiratory syndrome virus, PRRSV) และ circovirus (porcine circovirus types 2, 3, PCV2/3) นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสที่สามารถติดเชื้อจากสัตว์สู่คนและอาจมีความรุนแรงสูง เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก และ rabies virus โดยทีมวิจัยมีเทคโนโลยีฐานที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ศึกษาไวรัสเหล่านี้ คือเทคโนโลยีการสร้างอนุภาคไวรัสในหลอดทดลองหรือรีเวอร์สเจเนติกส์ เทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรมของเซลล์เพาะเลี้ยงให้เหมาะกับไวรัสแต่ละชนิด รวมไปถึงเทคนิคทางชีวสถิติ ชีววิทยาโมเลกุล ชีวเคมี และภูมิคุ้มกันวิทยา ที่สามารถนำมาใช้ส่งเสริมกันให้เกิดองค์ความรู้อย่างบูรณาการ องค์ความรู้และเทคโนโลยีฐานต่าง ๆ เหล่านี้ ประกอบกับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ เป็นพื้นฐานนำไปสู่เป้าหมายหลักของทีมวิจัย คือ การพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการคุ้มโรคต่อเชื้อไวรัสที่พบในภูมิภาคที่ดีกว่าวัคซีนที่วางจำหน่ายปัจจุบัน และราคาต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศอย่างยั่งยืน

ผลงานเด่นทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี    

 
  1. การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค PED

ไวรัส PEDV ก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรงในลูกสุกรแรกคลอด ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและมีอัตราการตายสูง สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมการผลิตสุกรในประเทศไทยอย่างมหาศาล โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ที่ระบาดกับสายพันธุ์วัคซีน และระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการให้วัคซีนแบบฉีดไม่สามารถต้านการติดเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อเมือกของลำไส้สุกรได้ ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยีจึงมุ่งเน้นศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกการก่อโรค โดยเป็นทีมวิจัยแรกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างโคลนไวรัสทั้งจีโนมของ PEDV (infectious clone) เพื่อนำไปใช้สร้างอนุภาคไวรัสในหลอดทดลองได้ (Jengarn et al, 2015) โดยเทคโนโลยีฐานนี้นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่ของโปรตีนของไวรัสที่สำคัญต่อการติดเชื้อและเจริญเติบโตภายในเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนสไปก์ที่ไวรัสใช้ในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ (Wanitchang et al, 2018; 2019), นิวคลีโอแคปสิดที่มีหน้าที่รักษาโครงสร้างของสารพันธุกรรมของไวรัส (Jaru-Ampornpan et al, 2017; Sungsuwan et al, 2020) หรือ โปรตีน ORF3 ที่เป็นโปรตีนเสริมที่อาจมีความสำคัญในการติดเชื้อในลำไส้สุกร (Wongthida et al, 2017; Kaewborisuth et al, 2018; 2019)

จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีฐานเหล่านี้ ได้พัฒนาไปสู่วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ต้นแบบที่มีการแสดงออกของโปรตีนสไปก์จากสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันเพื่อให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนผสมของยีนที่เหลือระหว่างสายพันธุ์วัคซีนและสายพันธุ์ที่ระบาดเพื่อให้ได้ไวรัสต้นแบบที่สามารถขยายขนาดได้ดีในห้องปฏิบัติการแต่ยังติดเชื้อในลำไส้สุกรได้มากพอที่จะกระตุ้นภุมิโดยไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง

  1. การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค PRRS

ไวรัส PRRSV ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อฟาร์มสุกรในประเทศไทย การติดเชื้อดังกล่าวจะกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้แม่สุกรแท้ง และลูกสุกรแรกคลอดล้มตายได้ วัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยจึงเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยีจึงมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีฐานให้สามารถสร้างวัคซีนต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว เช่น การใช้เทคนิค Gibson assembly (Suhardiman et al, 2015) และวิธีการสร้าง infectious clone และการพัฒนาเซลล์ที่ใช้เพิ่มจำนวนไวรัสได้ดี ในปัจจุบันมุ่งเน้นการสร้างวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ต้นแบบที่มีแอนติเจนครอบคลุมสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลทางชีวสถิติที่รวบรวมได้จากการสำรวจไวรัสในพื้นที่ และกำลังทดสอบการกระตุ้นภูมิของวัคซีนต้นแบบชนิดต่าง ๆ ในสัตว์ทดลอง (ทุนสนับสนุนจาก Newton Fund มีความร่วมมือกับ The Pirbright Institute, UK)

  1. การพัฒนาซับยูนิตวัคซีนสำหรับ PCV2

ไวรัส PCV2 ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสียหาย ส่งผลให้สุกรป่วยสามารถติดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ง่าย และเกิดอาการสูญเสียน้ำหนักอย่างรุนแรงหรือตายได้ แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโรคเซอร์โคไวรัสจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว แต่การนำเข้าวัคซีนทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรสูงขึ้น รวมทั้งมีความแตกต่างระหว่างเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยและสายพันธุ์วัคซีน อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุ้มโรคไม่ดีเท่าที่ควร ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี จึงมุ่งเน้นพัฒนาซับยูนิตวัคซีนป้องกันโรคเซอร์โคไวรัสในสุกรที่มีราคาต้นทุนต่ำกว่า แต่ประสิทธิภาพทัดเทียมกับวัคซีนที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยใช้โปรตีนแคปซิดจากเชื้อไวรัส PCV2 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยปัจจุบัน อีกทั้งยังเริ่มพัฒนาซับยูนิตวัคซีนสำหรับไวรัสเซอร์โคชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบว่าระบาดไปทั่วโลกคือ PCV3 โดยใช้เทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ในการผลิตโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบในสัตว์ทดลอง (ทุนสนับสนุนจาก GCRF, UKRI มีความร่วมมือกับ University of Kent, University College London, Imperial College London, London School of Hygiene and Tropical Medicine และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

  1. การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล

วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลในปัจจุบันมีจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น วัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนเชื้อเป็นที่พัฒนามาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อ่อนฤทธิ์ เช่น Lasota หรือ B1 แต่ความคุ้มโรคและประสิทธิภาพในการป้องกันโรคยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของ NDV สายพันธุ์รุนแรงชนิด Genotype VII ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยีจึงมุ่งเน้นพัฒนาวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันโรคนิวคาสเซิลชนิดใหม่จากเชื้อ NDV สายพันธุ์รุนแรงชนิด Genotype VII ที่มีการปรับจีโนมให้ความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อไวรัสดังกล่าวลดลงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การลดความสามารถของเชื้อไวรัสในการต้านทานระบบภูมิคุ้มกันของเจ้าบ้าน และการเปลี่ยนแปลงยีนที่มีผลต่อความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อไวรัส ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา infectious clone และระบบการสร้างอนุภาคไวรัสในหลอดทดลองจาก infectious clone ดังกล่าว (ทุนสนับสนุนจาก Newton Fund มีความร่วมมือกับ St. George’s University of London, Imperial College London)

  1. เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมของเซลล์และเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดเสมือนตัวอ่อนแบบเหนี่ยวนำ (induced pluripotent stem cells, iPSCs)

เทคโนโลยีฐานที่สำคัญต่อการศึกษากลไกการติดเชื้อและการก่อโรคของไวรัสและการพัฒนาวัคซีนอีกอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาและวิศวกรรมเซลล์ให้มีความเหมาะสมในการเพิ่มจำนวนของไวรัส บ่อยครั้งที่เซลล์ไลน์ที่มีในปัจจุบันไม่ใช่เซลล์ที่เหมาะสมต่อการติดเชื้อของไวรัส จึงมีความจำเป็นต้องปรับแต่งจีโนมของเซลล์เพื่อเพิ่มเติมโปรตีนที่มีความจำเป็นต่อการติดเชื้อและการเพิ่มจำนวนของไวรัสหรือไวรัสเวกเตอร์แต่ละชนิด หรือเพื่อลดการแสดงออกของโปรตีนเจ้าบ้านที่ขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดยสามารถทำได้โดยเทคโนโลยี lentivirus และ CRISPR/Cas9

ส่วนเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดเสมือนตัวอ่อนแบบเหนี่ยวนำสามารถเพิิ่มตัวเลือกเซลล์ที่จะใช้ในการศึกษาหรือเพิ่มจำนวนไวรัสได้มากขึ้น โดยสามารถเหนี่ยวนำเซลล์ต้นกำเนิดเสมือนตัวอ่อนให้กลายไปเป็นเซลล์เป้าหมายที่เป็น natural host ของไวรัสชนิดนั้น ๆ ได้ ปัจจุบัน ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยีประสบคามสำเร็จในการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเสมือนตัวอ่อนแบบเหนี่ยวนำของสุกร และได้พัฒนาไปเป็นเซลล์เป้าหมาย เช่น เซลล์ลำไส้เพื่อใช้ศึกษาการติดเชื้อของ PEDV หรือเซลล์ประสาทเพื่อใช้ศึกษาการติดเชื้อของ PRRSV สายพันธุ์รุนแรงที่แสดงอาการทางประสาทในสุกรติดเชื้อ อีกทั้งยังต่อยอดงานวิจัยด้านเซลล์ไปถึงการสร้าง organoid เพื่อศึกษาการติดเชื้อของไวรัสในระบบ 3 มิติที่มีเซลล์หลายชนิดรวมอยู่ด้วยกัน เพื่อจำลองสภาพให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อในสัตว์มากขึ้น
 

ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี

002672

อนันต์ จงแก้ววัฒนา

นักวิจัยอาวุโส(ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย)

พีร์ จารุอำพรพรรณ

พีร์ จารุอำพรพรรณ

นักวิจัย(หัวหน้าทีมวิจัย)

ปภล ม่วงสนิท

ปภล ม่วงสนิท

นักวิจัย

จรินทร์ คร้ามอยู่

จรินทร์ คร้ามอยู่

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

จรรยา แสนบุญเรือง

จรรยา แสนบุญเรือง

ผู้ช่วยวิจัย

จักราการ เจนการ

จักราการ เจนการ

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

อัศวิน วานิชชัง

อัศวิน วานิชชัง

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

จรัสพิมพ์ นาคพุก

จรัสพิมพ์ นาคพุก

ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส

เบญจมาศ หลิ่วนารี

เบญจมาศ หลิ่วนารี

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

เขมพิชชา อัตตสมบัติ

เขมพิชชา อัตตสมบัติ

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

ธรณ์ธันย์ แดงแพร

ธรณ์ธันย์ แดงแพร

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

803875

ศุภเสกข์ คาดการณ์ไกล

ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย

ข้อมูลการติดต่อ

ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี 
กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ

ดร. พีร์ จารุอำพรพรรณ
(Dr.Peera Jaru-Ampornpan)
โทร +66 2564 6700 ext. 3395, 3361
email: peera.jar@biotec.or.th

facebook: facebook.com/avctbiotec